Room Red Fight
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

โอบามากับนโยบายประชานิยม

Go down

โอบามากับนโยบายประชานิยม Empty โอบามากับนโยบายประชานิยม

ตั้งหัวข้อ  MyRed1 Thu Feb 25, 2010 11:41 pm

ขจรปรีย์ ภู่งาม โครงการสหรัฐอเมริกาศึกษา สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย khachornpree@hotmail.com กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2010q1/2010february03p1.htm


เป็นปกติที่สุนทรพจน์ประจำปีต่อรัฐสภาของประธานาธิบดีสหรัฐแต่ละครั้ง จะถูกให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการชี้แจงการบริหารประเทศของรัฐบาล และสภาวะของประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ อีกทั้งแนวนโยบายที่จะมีขึ้นต่อไป ในปีนี้ สุนทรพจน์ประจำปีของประธานาธิบดีโอบามาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นมีความหมายมากกว่านั้น เนื่องจากมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการปรับเปลี่ยนจุดยืนของการบริหารประเทศของรัฐบาลมาสู่แนวประชานิยม เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศทางการเมืองของประเทศมากขึ้น

เนื้อหาที่ออกมาจากสุนทรพจน์ประจำปีของประธานาธิบดีโอบามา จึงเป็นการสะท้อนถึงความพยายามในการเข้าถึงคนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศในขณะนี้มากขึ้น ที่กำลังไม่พอใจสถานะของประเทศ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่การว่างงานยังมีอยู่ในอัตราสูงในขณะที่ความสนใจของรัฐบาลกลับมุ่งไปที่การช่วยเหลือธนาคาร และสถาบันการเงินในวอลล์สตรีทซึ่งเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวของระบบการเงินที่ผ่านมา จนละเลยความเดือดร้อนของชนชั้นกลาง เงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลที่มีออกมาโอบอุ้มสถาบันเหล่านี้ และบทบาทของรัฐบาลที่มีมากขึ้นกำลังถูกต่อต้านจากชนชั้นกลางที่หวาดกลัวกับการแบกรับภาษีมากขึ้น และกลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่ยอมรับแนวทางการขยายตัวของรัฐ

บรรยากาศทางการเมืองดังกล่าวเห็นได้เป็นอย่างดีจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายเดโมแครตในการเลือกตั้ง ส.ว.ของรัฐแมสซาชูเซตส์เมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยการเลือกตั้งดังกล่าวนี้เพื่อสรรหา ส.ว.คนใหม่แทนนายเอ็ดเวิร์ด เคนเนดี้ ที่เสียชีวิตไป นอกจากจะส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบดูแลสุขภาพที่ยังค้างอยู่ในสภาคองเกรสจากปีที่แล้ว ยังสะท้อนอย่างเป็นสำคัญถึงกระแสของมหาชนที่ไม่ยอมรับทิศทางการบริหารประเทศของประธานาธิบดีโอบามาที่ผ่านมา และมีความกังขามากขึ้นต่อประสิทธิภาพของรัฐบาลชุดนี้ ในการนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมาสู่ประเทศตามที่เคยได้สัญญาไว้ โดยโพลล์ชั้นนำของประเทศล่าสุดเปิดเผยถึงคะแนนนิยมในการบริหารประเทศของนายโอบามาที่ร่วงลงมาจากเดิมถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 53 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แม้จะเป็นเพียงหนึ่งปีแรกแต่ทั้งโพลล์ และความพ่ายแพ้ที่แมสซาชูเซตส์ก็ถูกมองว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงทิศทางของการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาและพรรคเดโมแครตกำลังเผชิญอยู่

ว่าด้วยแนวทางการบริหารประเทศแบบประชานิยมในสหรัฐในปัจจุบัน ถือเป็นกระแสทางการเมืองที่เสียงดังขึ้นเรื่อยๆ จากความเคลื่อนไหวของมวลชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่เริ่มขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ที่ถูกเรียกกันว่าพรรคที (Tea Party ที่มาจาก Taxed Enough Already) โดยเป็นกลุ่มชนชั้นกลางหัวอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการขยายบทบาทของรัฐ การใช้งบประมาณรัฐขนาดใหญ่ การเพิ่มขึ้นของภาษี และต่อตัวนายโอบามาเองที่ถูกมองว่ามีความเป็นเสรีนิยมสูงเกินไป ในระยะหลังการเคลื่อนไหวนี้ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มจากชนชั้นกลางทั่วไป ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารประเทศในรอบปีแรกที่ผ่านมาของรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาด้วย และแนวร่วมเดโมแครตเดิมที่เริ่มจะขาดแรงศรัทธาที่มีต่อความหวังและการเปลี่ยนแปลงของนายโอบามา ที่ยังมาไม่ถึงและบางครั้งก็ดูเหมือนจะห่างออกไปทุกที

การหันมาเปิดรับแนวทางการบริหารประเทศแบบประชานิยมของประธานาธิบดีโอบามาจึงเริ่มชัดเจนขึ้น เพื่อเอาใจกลุ่มคนเหล่านี้ที่เริ่มจะหันหลังให้พรรคเดโมแครต โดยแม้จะช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันไม่สำเร็จที่แมสซาชูเซตส์ แต่นายโอบามาได้กำหนดท่าทีใหม่หันหน้ามาสื่อสารกับชนชั้นกลางและแข็งกร้าวต่อวอลล์สตรีทมากขึ้น โดยประกาศข้อเสนอใหม่ เพื่อควบคุมขนาดและกิจกรรมของธนาคารในสหรัฐอย่างเข้มงวดมากขึ้น ทั้งหมดนี้ แน่นอนว่า เพื่อเป็นการรักษาและช่วงชิงคะแนนเสียงทางการเมืองให้กับพรรคเอาไว้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในปีนี้ที่สหรัฐจะทำการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งโฆษกรัฐบาลก็ได้กล่าวไว้ว่าแนวทางประชานิยมจะเป็นจุดยืนใหม่ของรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาในปีนี้

การปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ เพราะแม้จะมีความสามารถในการกล่าวสุนทรพจน์ที่คมคาย และโน้มน้าวผู้ฟังได้มากเพียงใด แต่ถ้าลมปากไม่สามารถสร้างนโยบายที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้แล้ว ในที่สุด อุดมการณ์ก็คงต้องหลีกทางให้กับสภาพความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า ปัญหาของนายโอบามา คือ เขาพร้อมหรือไม่ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเขาเองให้เข้ากับความจริงดังกล่าวนี้ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าชัยชนะที่ส่งผลให้เขาขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้นำของประเทศเกิดมาจากแนวทางคนละขั้วกัน ที่มุ่งผลักดันการปฏิรูปมากกว่าการเอาใจชนชั้นกลาง และที่สำคัญ คือ ลักษณะความเป็นผู้นำของนายโอบามาที่ถูกมองว่ามีความเป็นนักปฏิรูปมากกว่านักการเมืองแบบประชานิยม ที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นกลาง

ชัยชนะของพรรครีพับลิกันที่แมสซาชูเซตส์อันถือเป็นถิ่นเก่าของเดโมแครตมากว่าห้าทศวรรษยังเป็นการสะท้อนออกมาถึงความจริงที่ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งอเมริกันไม่มองปัญหาของประเทศในตอนนี้ว่าเป็นมรดกตกทอดมาจากรัฐบาลรีพับลิกันของนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ผ่านมาอีกต่อไป ดังนั้น แม้นายโอบามาจะสามารถใช้เงื่อนไขดังกล่าวในปีแรกของเขาได้ แต่คนอเมริกันก็เริ่มจะเพิ่มความคาดหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่ของพวกเขามากขึ้นทุกที ที่สำคัญ คือ คู่แข่งทางการเมืองของเดโมแครตที่ดูจะเข้าถึงความจริงได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งหมดนี้ จึงเป็นบทเรียนจากปีแรกให้กับประธานาธิบดีโอบามาและพรรคเดโมแครต จากนี้ไปคงต้องรอดูต่อไปว่ารัฐบาลสหรัฐอายุหนึ่งขวบชุดนี้จะใช้กระแสเรียกร้องแบบประชานิยมในการบริหารประเทศได้สำเร็จหรือจะเป็นฝ่ายถูกใช้กันแน่

MyRed1

จำนวนข้อความ : 10
Join date : 25/02/2010

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน


 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ