Room Red Fight
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

ความน่าเชื่อถือ ของระบบกฎหมายของประเทศในกลุ่มอาเซียน

Go down

ความน่าเชื่อถือ ของระบบกฎหมายของประเทศในกลุ่มอาเซียน Empty ความน่าเชื่อถือ ของระบบกฎหมายของประเทศในกลุ่มอาเซียน

ตั้งหัวข้อ  MyRed1 Sat Feb 27, 2010 12:09 am

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2010q1/2010february26p2.htm



ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ประเทศที่มีระบบกฎหมายที่ดี ก็เปรียบเสมือนบ้านที่มีเสาหลักที่มั่นคงคอยค้ำจุนให้สังคมมีความมั่นคง ประชาชนอยู่กันอย่างเป็นสุข สามารถใช้ชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างมั่นใจ เพราะมีหลักประกันที่แน่นอนว่าตนเองจะได้รับความยุติธรรม สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้บ้านเมืองสามารถเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการจัดทำดัชนีหลายอย่าง แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครทำการสร้างดัชนีเกี่ยวกับระบบกฎหมายอย่างเป็นระบบ หน่วยงานในต่างประเทศที่พอจะเป็นปากเป็นเสียงในเรื่องนี้ได้ เพราะจับเรื่องนี้มายาวนานก็เห็นจะมีแต่ The Fraser Institute ซึ่งเคยมีมิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ หน่วยงานนี้ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และระบบกฎหมาย เพื่อทำการจัดอันดับระดับความมีอิสรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จำนวน 141 ประเทศ ผลการจัดอันดับในปี 2552 โดยใช้ข้อมูลปี 2550 นั้น ประเทศไทยถูกจัดไว้ในอันดับที่ 59

ส่วนหนึ่งของรายงาน The Economic Freedom of the World มีการประเมินระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ โดยแบ่งการประเมินออกเป็นเจ็ดหัวข้อ ได้แก่ 1) ความเป็นอิสระของระบบตุลาการ 2) ความเป็นกลางของศาลในการตัดสินคดีความต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีความทั่วไปหรือคดีความทางการเมือง 3) การปกป้องกรรมสิทธิ์ 4) การปลอดจากการแทรกแซงของทหาร 5) ความน่าเชื่อถือของกระบวนการทางกฎหมาย 6) การบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ทำตามสัญญา และ 7) กฎหมายควบคุมการซื้อขายทรัพย์สิน แต่ละองค์ประกอบจะมีคะแนนเต็มสิบ ยิ่งได้คะแนนสูงก็แสดงว่าองค์ประกอบนั้นมีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น

หากมองในภาพรวมเทียบกับประเทศในแถบอาเซียนที่นำมาเปรียบเทียบให้เห็น เราอยู่ในอันดับที่ 3 โดยได้คะแนนรวมในปี 2550 เท่ากับ 6.1 ในขณะที่สิงคโปร์ได้ 8.49 มาเลเซียได้ 6.60 เวียดนามได้ 5.91 ฟิลิปปินส์ได้ 4.83 อินโดนีเซียได้ 4.12

เห็นแล้วบางคนอาจจะใจชื้นว่า คะแนนของไทยก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่สักเท่าไหร่ จะแพ้ก็แต่สิงคโปร์กับมาเลเซีย โดยมีเวียดนามไล่หลังเรามาติดๆ แต่พอแยกมาดูทีละหัวข้อจะเห็นว่า สายตาของผู้จัดทำรายงาน The Economic Freedom of the World นั้น เรายังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงอยู่หลายข้อ แต่จุดเด่นที่น่าจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ คือ ประเด็นสุดท้ายซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อขายทรัพย์สิน

การให้คะแนนในหัวข้อนี้ ดูจากปัจจัยสองอย่าง คือ ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดการเรื่องการโอนย้ายซื้อขายทรัพย์สิน และค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ หากจะว่ากันตามประสาชาวบ้านแล้ว หัวข้อนี้เป็นตัวบอกว่าการทำมาค้าขายในบ้านเรานั้น ซื้อง่ายขายคล่องกว่าประเทศอื่นเขา

ส่วนข้ออื่นๆ ที่ยังสู้สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามไม่ได้นั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระบบของเรามีปัญหาจริง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากทัศนคติของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดทำคะแนนเหล่านี้ ดังนั้น หากจะให้คะแนนเหล่านี้สะท้อนภาพที่แท้จริง รัฐควรเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นของจริง ไม่มีการแต่งหน้าทาปากให้ดูดีเพื่อรักษาหน้าของตัวเอง และเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้ทั่วถึง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประเมินมีทัศนคติที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ส่วนในระยะยาว ควรต้องพยายามปรับปรุงระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

จริงอยู่ตัวเลขเหล่านี้อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงไปเสียทุกอย่าง และตัวเลขที่แสดงไว้เป็นผลจากการศึกษาเมื่อสองปีก่อน จึงอาจไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันของไทย แต่อย่างน้อย การเปิดใจให้กว้างขึ้นเพื่อรับรู้ว่าคนอื่นเขามองประเทศไทยอย่างไร ก็จะช่วยให้เรารู้ว่ามีอะไรอีกบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น

เราต้องไม่ลืมว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม คือคู่แข่งตัวเป้งทางเศรษฐกิจของเรา ประเทศเหล่านี้ผลิตสินค้าขายแข่งกับเรา แย่งเงินลงทุนจากต่างประเทศกับเรา แถมยังเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่จะได้ประโยชน์จากอะไรก็ตามที่จะทำให้ประเทศไทยต้องเจอกับปัญหา

ระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง ปราศจากแทรกแซงทางการเมือง มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น เป็นกลาง ผิดว่าไปตามผิด ย่อมเป็นหลักประกันให้กับสังคมในระดับหนึ่ง สังคมเช่นนี้แม้จะมีความวุ่นวายบ้างในระยะสั้น แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง หากระบบสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า มีความเข้มแข็งพอ ไม่หวั่นไหวต่อแรงพัดโหมใดๆ สุดท้ายแล้ว ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม และได้แรงสนับสนุนจากประชาชน ทำให้ระบบมีภูมิต้านทานต่อแรงกดดันทางการเมือง

ระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและคู่ค้าในต่างประเทศของเรา ว่าอย่างไรเสีย พวกเขาจะได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม สามารถทำการค้าขายกับเราได้อย่างสบายใจ

สังคมที่เติบโตขึ้นบนพื้นฐานของการเคารพกฎหมายมากกว่ากฎหมู่ ย่อมเป็นสังคมที่มีความมั่นคง สามารถพัฒนาตัวเองไปได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ส่วนสังคมที่ยอมให้กฎหมู่มาตัดสินชะตากรรม ก็ไม่ต่างอะไรกับการสมยอมกัน ปล่อยให้สังคมถอยหลังเข้าคลอง

MyRed1

จำนวนข้อความ : 10
Join date : 25/02/2010

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน


 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ